ความเป็นมา

ความเป็นมา

          ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533 มาตรา 14 กำหนดว่า “ให้มีสภามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วย 1) นายกสภามหาวิทยาลัย 2) กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนสองคนซึ่งสภาวิชาการเลือกจากกรรมการสภาวิชาการ 4) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนห้าคน ซึ่งเลือกตั้งจากคณาจารย์ประจำ 5) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอก และในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนสี่คน…” โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามข้อ 1) 3) 4) และ 5) มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรืออาจได้รับเลือกหรือได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้

         สภามหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 5/2548 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เห็นควรปฏิรูปงานของสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นองค์กรที่กำกับเชิงนโยบาย สนับสนุนและทบทวนบทบาทต่างๆ จึงได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงระบบงานของสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีขึ้นและต่อมา ในการประชุมครั้งที่ 7/2548 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 สภามหาวิทยาลัยได้เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงระบบงานของสภามหาวิทยาลัย โดยให้เริ่มดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548  พร้อมทั้งมีการกำหนดตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยเพื่อทำหน้าที่เลขานุการสภามหาวิทยาลัย และให้อธิการบดีเสนอผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ส่วนการจัดให้มีหัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัยตามระบบงานนั้น อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไปเช่นกัน

         แนวทางการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัยเน้นบทบาทด้านนโยบาย แผน มาตรฐาน การพัฒนาทรัพยากร และการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการปฏิบัติงานและการบริหาร โดยกระจายอำนาจให้องค์กรภายในระดับต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มอำนาจและความรับผิดชอบในการตัดสินใจให้แก่ผู้บริหารให้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การประชุมสภามหาวิทยาลัยตอบสนองต่อแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว จึงมีการเปลี่ยนแปลงการจัดวาระการประชุม การปรับปรุงระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Auditing) เพื่อมุ่งไปสู่การบริหารและการจัดการที่ดี (Good Governance) และรวมถึงการจัดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการบริหารจัดการที่ดี จึงได้จัดให้มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยและของอธิการบดี โดยยึดหลักธรรมาภิบาลหรือหลักการบริหารและ การจัดการที่ดีตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533

         สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 9/2548 เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2548 ได้มีมติเห็นชอบข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ว่าด้วย การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงาน พ.ศ. 2548 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงาน เพื่อดำเนินการตามข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงาน ด้วยการประกาศใช้ระเบียบใหม่ คือ ระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลงาน และการตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2551 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติระเบียบนี้ในการประชุมครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เพื่อตอบสนองต่อหลักการบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เข้าสู่ระดับที่ยอมรับได้ของมาตรฐานสากล นอกจากนี้ เพื่อให้การทำงานของสภามหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวจึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานสภามหาวิทยาลัยขึ้นตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ประกาศวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551)

X