มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางในการศึกษา วิจัย และให้บริการการวิจัยด้านรังสี และเป็นศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเฉพาะด้านในระดับอาเซียน เพื่อการกระจายความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสู่ภูมิภาค ด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็ก (Miniature Neutron Source Reactor; MNSR) โดยการเน้นการบูรณาการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ร่วมกันระหว่างฟิสิกส์นิวเคลียร์ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางรังสีได้หลากหลายเทคนิค เช่น การวิเคราะห์ธาตุโดยเทคนิคการอาบรังสีนิวตรอน (Neutron Activation Analysis; NAA) การถ่ายภาพวัสดุโดยใช้นิวตรอน (Neutron Radiography) และเทคนิคการจับยึดนิวตรอนด้วยโบรอน (Boron Neutron Capture Therapy; BNCT) ซึ่งเป็นการใช้นิวตรอนในการรักษาโรคมะเร็ง โดยทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง และไม่ทำลายเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยรอบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด และลดการบอบซ้ำของผู้ป่วย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์และให้บริการด้านการรักษาพยาบาล
- เพื่อเพิ่มโอกาศในการเข้าถึงการรักษาและบริการทางสาธารณสุขในระดับสูงสำหรับประชาชน
ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
- เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน
- เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะด้านในการใช้เครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็ก
- เพื่อรองรับการศึกษาและพัฒนางานวิจัยของชาติอย่างบูรณาการ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจึงได้กำหนดให้มีแผนการสร้าง และดำเนินการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็ก เพื่อผลิตนิวตรอนสำหรับนำมาใช้งานในด้านต่างๆ และเพื่อการศึกษาวิจัย และให้บริการด้านรังสีรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ