ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ มทส.

ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice ; GAP) จะทำให้ได้ไข่ผำ สด สะอาด มีมาตรฐานปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมคำนึงถึงการจัดการฟาร์มแบบ Bio-Circular-Green ยกระดับผักพื้นบ้านมาให้เป็นผักเศรษฐกิจใหม่ และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมูลค่าสูง ซึ่งหากเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีที่ มทส. แนะนำสามารถเลี้ยงให้มีโปรตีนสูงถึง 61.7% ของน้ำหนักแห้ง ไข่ผำเป็นพืชน้ำที่จัดการด้านเขตกรรมได้ง่าย ศัตรูน้อย แตกหน่อเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น จึงทำรอบเลี้ยงได้ง่ายและได้ถี่ หากผู้เลี้ยงมีการจัดการฟาร์มและการตลาดที่ดีจะสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น ไข่ผำเหมาะเป็นโรงงานผลิตพืชอาหารโปรตีนสูงสำหรับครัวเรือน ชุมชน และอุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับชุมชน ภูมิภาพ ประเทศ และโลก

ผศ.ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า “จากกระแสการให้ความสนใจบริโภค “ไข่น้ำ” หรือ “ไข่ผำ” (Wolffia) ซึ่งถูกมองเป็น Future Food ด้วย ถูกจัดเป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  “ไข่ผำ” มีจุดเด่นคือ ย่อยและดูดซึมง่าย ใยอาหารสูง แคลอรี่และไขมันต่ำ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมค่าคอเลสเตอรอล ผู้ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนจากสัตว์ได้ กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องการโปรตีนเสริมมวลกล้ามเนื้อ และกลุ่มผู้มีปัญหาระบบขับถ่าย เป็นต้น

 

ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม โดย มทส. ถูกออกแบบ ติดตั้ง วางผังและวางระบบฟาร์มแบบสั่งตัด การจัดการฟาร์มง่ายแต่สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP การวางผังฟาร์มเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด บนหลักการ Zero waste, Zero mile และ less for mire (ทำน้อยได้มาก)  เป็นฟาร์มต้นแบบที่มีกำลังการผลิตบ่อขนาดกลางและขนาดใหญ่สูงสุดเท่ากับ 0.5 ตันสด/ปี/บ่อ 20 ตร.ม และ 2.6 ตันสด/ปี/บ่อ 100 ตร.ม. ตามลำดับ เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรสูงวัย วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตรรายเล็กและรายใหม่ สามารถนำต้นแบบนี้ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ นอกจากเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบต้นน้ำ/ไข่น้ำปลอดภัยโปรตีนสูงเสถียรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารคนและอาหารสัตว์อีกด้วย

จุดเด่น “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” ที่พัฒนาโดย มทส. เป็นเทคโนโลยีการผลิตไข่ผำปลอดภัยโปรตีนสูงแบบผสมผสาน ประกอบด้วย 5 ระบบหลัก ดังต่อไป

1 ระบบ DFT/AP (Deep Flow Technique with Air Plus) เป็นการเลี้ยงไข่ผำด้วยปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ สูตร SUT-NS6 ระดับความเข้มข้น 0.5 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร ได้ผลผลิตไข่ผำสดคุณภาพสูง ปลอดภัย โปรตีนสูงมากกว่า 40 % ของน้ำหนักแห้ง มีสีเขียวสม่ำเสมอ ไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์

  1. ระบบการเก็บเกี่ยวกึ่งอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว ประหยัดต้นทุนเวลา แรงงานและน้ำ

  2. ระบบเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศและน้ำเลี้ยง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบในกระบวนการผลิตไข่ผำของฟาร์มได้อย่างแม่นยำ

  3. ระบบทำความสะอาดไข่ผำสด เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ไข่น้ำ สด สะอาด ปลอดภัย พร้อมใช้ และยืดอายุการเก็บรักษา/วางจำหน่าย โดยใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด และมีการวางระบบน้ำล้างไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่นของฟาร์มต่อไป

  4. ระบบการอบแห้งและทำผง มีการศึกษาสภาวะการอบไข่ผำให้แห้งโดยยังคงให้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง สีไข่ผำเขียวสม่ำเสมอ ระดับความชื้นของไข่ผำอบแห้งเป็นไปตามความต้องการของการใช้ประโยชน์

สำหรับประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  ผศ.ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อีเมล์ arak@sut.ac.th โทรศัพท์ 06-3645-6494,  สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

X