ลักษณะของวิศวกรรมขนส่งและลักษณะงาน

ลักษณะของวิศวกรรมขนส่งและลักษณะงาน

ลักษณะวิชาชีพ

บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งจะมีความรู้พื้นฐานสามารถวางแผน ออกแบบ และจัดการเกี่ยวกับงานจราจร การคมนาคม การจัดการการขนส่ง ตลอดจนความรู้ที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นสำหรับประกอบอาชีพวิศวกรรมโยธา ตามข้อกำหนดของสภาวิศวกร การจัดการเรียนการสอนจะเน้นเฉพาะทางด้านการจราจรและการขนส่ง สามารถประยุกต์เพื่อการประกอบอาชีพด้านการออกแบบควบคุมงานด้านวิศวกรรม การจัดการวางแผนด้านการขนส่ง การออกแบบระบบการขนส่งต่าง ๆ ได้ ลักษณะอาชีพมีหลากหลาย เช่นในองค์กรของรัฐ อันได้แก่ กรมทางหลวง การทางพิเศษ องค์การรถไฟฟ้ามหานคร หรือในงานเอกชน ที่มีการเกี่ยวข้องกับการจัดการการขนส่ง หรือการกระจายสินค้า เป็นต้น

คุณลักษณะของผู้ศึกษา

ควรจะเป็นคนช่างสังเกตมีความสนใจในการประยุกต์ความรู้พื้นฐานมาใช้ในงานวิศวกรรม จำเป็นต้องมีความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และพื้นฐานวิชาการที่ช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันได้แก่ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างดี มีความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองในสาขาประยุกต์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ เพราะวิศวกรรมขนส่งเป็นสหวิทยาการที่ต้องมีความรอบรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องหลายสาขาวิชาประกอบกันจึงจะสามารถเข้าใจและแก้ปัญหาได้ดี

แนวทางการประกอบอาชีพสำหรับผู้ที่จบการศึกษา

ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมขนส่ง  สามารถประกอบอาชีพได้หลายลักษณะ เช่น

1. รับราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ  หน่วยราชการเกือบทุกแห่งที่มีงานด้านขนส่งและงานวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กรมทางหลวง  การไฟฟ้า  วิศวกรจราจรประจำเทศบาล  องค์การโทรศัพท์  กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถประกอบอาชีพเป็นครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

2. หน่วยงานด้านการขนส่ง ในบริษัทหรือองค์กรที่ทำงานด้านการวางแผน การจัดการ การดำเนินงานระบบขนส่งมวลชน การแก้ไขปัญหาการจราจร การคมนาคมขนส่ง  เช่น องค์การรถไฟฟ้ามหานคร ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ บริษัทการบินไทย บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ และแก้ปัญหาด้านจราจรขนส่ง เป็นหน่วยงานที่ใช้วิศวกรขนส่งจำนวนมาก  และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลักของประเทศ รวมทั้งในบริษัทการค้าที่จะต้องมีการจัดการด้านการขนส่งกระจายสินค้าต่าง ๆ บริษัทขนส่งทางทะเล เป็นต้น

3. ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างทางด่วนรถไฟฟ้า ท่าเรือ หรือสนามบิน และในโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น อาคารโรงงาน บ้านพักอาศัย ถนน สะพาน โดยสามารถอยู่ในธุรกิจได้ทั้งในรูปแบบของเจ้าของงาน วิศวกรที่ปรึกษา วิศวกรหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง

4. งานส่วนตัว วิศวกรที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง จะสามารถประกอบอาชีพภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโยธา สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้หลาย ๆ รูปแบบ ทั้งเป็นเจ้าของงาน วิศวกรที่ปรึกษา ผู้รับเหมา ซึ่งจะเป็นผู้รับรองการออกแบบ หรือการคำนวณในลักษณะของวิชาชีพวิศวกรควบคุมต่าง ๆ ได้ และเนื่องจากรูปแบบอาชีพเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยหลักของชีวิต ดังนั้น แนวทางอาชีพอิสระจึงมีหลากหลายมาก

X