ทั้งนี้ในงานมี ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) กล่าวถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการดำเนินการโครงการ RNN และนายเขมทัต สุคนธสิงห์ กรรมการบริหาร ศน. กล่าวแสดงความยินดีแก่คณะนักวิจัยจากศูนย์เครือข่ายฯ นอกจากนี้ในงานมีการจัดบูธแสดงผลงานวิจัยในแต่ละขอบข่ายการวิจัย การบรรยายพิเศษในหัวข้อ Nanovation Talk – “นวัตกรรมนาโนขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” โดยนักวิจัย ศน. อาจารย์ผู้ร่วมโครงการศูนย์เครือข่ายฯ และ ผู้ประกอบการ ในช่วงบ่ายมีการประชุม kick off meeting ร่วมกันระหว่าง ศน. และหัวหน้าศูนย์เครือข่ายฯ เพื่อทำแนะนำและทำความเข้าใจในการดำเนินการของโครงการศูนย์เครือข่ายฯ ต่อไป
โดย มทส. ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายของโครงการ RNN ซึ่งศูนย์เครือข่ายวัสดุนาโนและการวิเคราะห์ขั้นสูง ของ มทส. จะทำการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุนาโนด้านระบบกักเก็บพลังงานตามแผนพลังงานของประเทศไทย อาทิเช่น ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (supercapacitor) ระบบกักเก็บพลังไฮโดรเจน (hydrogen storage) โซลาร์เซลล์ (Solar cell) รวมถึงเน้นการวิเคราะห์มาตรวิทยาสำหรับอุตสาหกรรม และการศึกษาวัสดุที่สังเคราะห์โดยนักวิจัยร่วมโครงการ และวัสดุมาตรฐานจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยจะมีการดำเนินการวิจัยเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2564