มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ก่อตั้งโรงเรียนสุรวิวัฒน์ เป็นโรงเรียนแบบประจำ (Boarding School) ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จากศักยภาพของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยีขั้นสูง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจึงได้ขยายภารกิจด้านพัฒนาการศึกษาให้ครอบคลุมถึงการบ่มเพาะและพัฒนานักเรียนก่อนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยได้รับการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยร่วมกับโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ตั้งแต่ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551 – พ.ศ.2555) และต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2565) จำนวน 1 ห้องเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้รับการขยายเพิ่มห้องเรียน วมว. อีก 1 ห้องเรียน รวมเป็น 2 ห้องเรียน
โรงเรียนสุรวิวัฒน์ เป็นโรงเรียนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา เป็นสถานศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อพัฒนานักเรียนและเชื่อมรอยต่อทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และมุ่งสู่ความเป็นนักวิชาการวิชาชีพตามที่นักเรียนมีความถนัดและสนใจ โครงสร้างทางกายภาพของสถานที่เรียนให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการเรียนการสอนทางวิชาการ (Academic Planning) เพื่อการเรียนรู้ การค้นคว้า การปฏิบัติการ และการทำกิจกรรมให้นักเรียนได้มีโอกาสไปสัมผัสกับการเรียนนอกห้องเรียน ส่งเสริมนักเรียนให้เรียนรู้ด้านการปกครอง ส่งเสริมภาวะความเป็นผู้นำ/ผู้ตาม การทำงานเป็นทีม และการรวมกลุ่มชมรม ออกแบบอาคารให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามลักษณะของโรงเรียน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้ทางด้านภาษา ศูนย์การเรียนรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และศูนย์การเรียนรู้ทางด้านสังคมศึกษา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้าที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะการใช้ภาษา และการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมให้การเรียนรู้ของนักเรียนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยความพร้อมดังกล่าว โรงเรียนสุรวิวัฒน์ จึงได้รับการขยายเพิ่มห้องเรียน วมว. ในปี 2560-2561 เพิ่มอีก 2 ห้องเรียน
ในด้านการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะของห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ วมว. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีแนวคิดการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นลักษณะ STEM @Life หรือ STEM education for Life เน้นพัฒนารูปแบบที่ผลิตนักเรียนให้มีความตื่นรู้ในวิชาการที่เรียนมาทาง Science , Technology , Engineering และ Mathematics เพื่อมาใช้ประโยชน์สูงสุดในชีวิตประจำวัน (รวมถึงอาชีพ) มี 3 ด้าน
ความพร้อมด้านกายภาพ ที่ได้รับจากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- โรงเรียนสุรวิวัฒน์ฯ ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างกลุ่มอาคารพื้นฐานการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษา รวมถึงหอพักภายในกลุ่มอาคารฯ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนแบบ boarding school ซึ่งเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561
- สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ สถานกีฬาและสุขภาพ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเครื่องมือชั้นสูงของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการเรียนรู้และทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้
ปัจจุบัน โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์คู่โรงเรียนสุรวิวัฒน์ รับนักเรียนมาแล้ว 3 รุ่น ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2561 ซึ่งนักเรียนรุ่นแรกกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้ มีนักเรียนได้รับรางวัลจากโครงการโอลิมปิกวิชาการ รวมถึงการแข่งขันโครงงานทั้งระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก โดยโรงเรียนสุรวัฒน์ฯ มีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานักเรียนโครงการ วมว. ร่วมกันกับนักเรียนห้องเรียนปกติ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน เชื่อมรอยต่อทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และมุ่งสู่ความเป็นนักวิชาการวิชาชีพตามที่นักเรียนมีความถนัดและสนใจ นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังมีมติให้ขยายการดำเนินการของโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในระยะที่ 3 อีก 20 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2585) และให้มีการขยายห้องเรียนเพิ่มทั่วประเทศอีก 6 ห้องเรียน โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะดำเนินการรับสมัครจากศูนย์โครงการ วมว. ทั่วประเทศที่มีศักยภาพเพื่อประเมินการขยายห้องเรียน จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ที่จะขยายเพิ่มห้องเรียนห้องที่ 3 และได้รับงบประมาณสำหรับดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2585 นักเรียนในโครงการ วมว. จะเป็นกำลังสำคัญที่เป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคตต่อไป