การให้บริการของ สสน.

การให้บริการของ สสน.

ขั้นตอนการปฏิบัติงานของงานธุรการ

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การรับ–ส่งเอกสารจากหน่วยประสานงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรุงเทพมหานคร (หน่วยประสานงาน มทส. กทม.)

งานธุรการ ส่วนสารบรรณและนิติการ ดำเนินการประสานงานกับ รปภ. ประจำอาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป เพื่อตรวจสอบเอกสาร สิ่งของ ว่าถูกต้อง ตรงตามจำนวนที่ระบุในใบนำส่งหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ถูกต้อง จะดำเนินการโทรศัพท์ติดต่อกลับไปยังหน่วยประสานงาน มทส. กทม. เพื่อทบทวน มีรายละเอียดในการดำเนินงานดังนี้

– ในวันทำการ (วันจันทร์ – วันศุกร์) รถเฉพาะกิจของส่วนอาคารสถานที่ เดินทางมาถึงอาคารบริหาร มทส.  นครราชสีมา เวลาประมาณ 18.00 น. โดยนำเอกสารจากหน่วยประสานงาน มทส. กทม. ลงพักไว้ที่ รปภ.อาคารบริหาร

– เวลาประมาณ 08.45 น. ของทุกวันทำการ (วันจันทร์ – วันศุกร์) งานธุรการผู้รับผิดชอบ จะดำเนินการตรวจสอบ ตรวจนับ และคัดแยกสิ่งของ โดยดำเนินการคัดแยกดังนี้

  1. ภายในอาคารบริหาร

–  เอกสารหรือสิ่งพิมพ์ นำส่งโดยตรงแก่ผู้รับหรือตัวแทน โดยผู้รับหรือตัวแทนต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน

–  พัสดุสิ่งของ จะทำการแจ้งผู้รับหรือตัวแทน เพื่อมาติดต่อขอรับ โดยผู้รับหรือตัวแทนลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน

  1. ภายนอกอาคารบริหาร

–  เอกสารหรือสิ่งพิมพ์ นำส่งผ่านงานไปรษณีย์ ส่วนสารบรรณและนิติการ พร้อมใบนำส่ง เพื่อลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน

–  พัสดุสิ่งของ แจ้งผู้รับหรือตัวแทน เพื่อเดินทางมาติดต่อขอรับ ที่งานธุรการ ส่วนสารบรรณและนิติการ โดยลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน

 

ขั้นตอนการปฏิบัติงานของงานนิติการ

ภารกิจงานนิติการ

ปฏิบัติหน้าที่ด้านงานกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะงานที่เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายตอบข้อหารือ เสนอความเห็นทางกฎหมาย ให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย ยกร่างตรวจร่างกฎหมายและนิติกรรมสัญญา ตรวจสอบการโอนสิทธิ เร่งรัดหนี้สิน สอบข้อเท็จจริง แจ้งความร้องทุกข์ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดี สืบหาทรัพย์สินเพื่อบังคับคดี และปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้

ข้อมูลนำลงเวปไซต์

(แหล่งข้อมูล ๑ วารสารกรมบังคับคดี ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑๐๓ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๙

              ๒ การจัดการความรู้ การฟ้องคดีปกครอง โดยกลุ่มตรวจการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

๑  การดำเนินคดีปกครอง

๑.๑  ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี กล่าวคือ ศาลปกครองมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นใดได้โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังเฉพาะคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

๑.๒  ระบบวิธีพิจารณาของศาลปกครองเป็นระบบถ่วงดุล โดยมีการถ่วงดุลในการพิจารณา ๓ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายแรก ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า ตุลาการเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ฝ่ายที่สอง ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า องค์คณะ โดยเรียกผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่นี้ว่า ตุลาการผู้แถลงคดี ทำหน้าที่แถลงการณ์ต่อคณะผู้พิพากษา และฝ่ายที่สาม องค์คณะที่มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองซึ่งมีอิสระในการพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้

๑.๓  ระบบศาลปกครอง แบ่งออกเป็นสองชั้นคือ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น

๑.๔  ประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

(๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

(๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด

(๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

๑.๕  การฟ้องคดีปกครองไม่มีแบบของคำฟ้องกำหนดไว้เฉพาะ แต่ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ ระบุชื่อที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี คำขอและลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี และต้องแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปพร้อมกับคำฟ้องด้วย โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นซึ่งได้แก่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือศาลที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น

๒  การใช้มาตรการบังคับทางปกครอง

๒.๑  หลักเกณฑ์ทั่วไป

(๑) การบังคับทางปกครองใช้กับคำสั่งทางปกครองประเภทที่ต้องมีการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกคำสั่งทางปกครองแต่ผู้รับคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามคำสั่ง

(๒) เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถที่จะพิจารณาดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้เองโดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล

(๓) การใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ให้ใช้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครองโดยกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับทางปกครองน้อยที่สุด

๒.๒  การดำเนินการกรณีที่เป็นคำสั่งให้ชำระเงิน

(๑) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องออกคำสั่งทางปกครองเพื่อกำหนดให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองชำระเงิน และถ้าถึงกำหนดเวลาชำระเงินแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๗ วัน

(๒) กรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้น และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนได้ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งนี้ ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๖๗๓/๒๕๕๑ เห็นว่า มาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ไม่ได้จำกัดพื้นที่สำหรับการใช้มาตรการบังคับทางปกครองไว้ ดังนั้น แม้ทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะอยู่ต่างเขตพื้นที่หรืออยู่ต่างจังหวัด ก็ชอบที่จะยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวได้

(๓) ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๗๑๙/๒๕๔๖ เห็นว่า การที่มาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า  “…ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง..” มีความหมายว่า หน่วยงานของรัฐสามารถที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองก็ได้ เพราะหากหน่วยงานของรัฐสามารถทำให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองดำเนินการชดใช้เงินโดยวิธีการอื่นได้แล้ว หน่วยงานของรัฐก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรานี้

๒.๓  อายุความในการบังคับทางปกครอง

(๑) การบังคับคดีตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม จึงต้องนำระยะเวลาตามมาตรา ๒๗๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับมาตรการบังคับทางปกครองโดยอนุโลมด้วย ดังนั้น จึงต้องดำเนินการบังคับทางปกครองให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้ชดใช้เงิน

(๒) ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๒๖๗/๒๕๔๙ เห็นว่า การใช้มาตรการบังคับทางปกครองในทุกขั้นตอนตั้งแต่การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตลอดจนการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อชำระเงิน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐ ปี  นับแต่วันที่มีคำสั่ง หากไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวได้ หน่วยงานของรัฐต้องยุติเรื่องโดยไม่ต้องให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างหรือโต้แย้งก่อนแต่อย่างใด

 

ขั้นตอนการปฏิบัติงานของงานจัดเก็บเอกสาร

1. การกำหนดเลขที่คำสั่ง มทส. และ คำสั่งสภา มทส.

การกำหนดเลขที่คำสั่ง หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่จัดทำคำสั่ง สามารถโทรศัพท์เพื่อขอจองเลขที่คำสั่ง มทส. ของแต่ละวันทำการ ได้ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป โดยคำสั่งฉบับนั้นต้องมีลายมือชื่อของผู้บริหารลงนามเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

2. แจ้งเวียนเอกสารของมหาวิทยาลัย ได้แก่ คำสั่ง คำสั่งสภา ประกาศ ประกาศสภา ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ของมหาวิทยาลัย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานหรือบุคคลที่มีชื่อในเอกสาร เพื่อทราบและปฏิบัติ ผ่านระบบ SUT E-Office

3. ดูแลจัดเก็บข้อมูล คำสั่ง คำสั่งสภา ประกาศ ประกาศสภา ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ของมหาวิทยาลัย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในระบบสืบค้นเอกสาร SUT DOCUMENT ARCHIVE SYSTEM

4. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการทำลายหนังสือและข้อสอบ

5. ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการทำลายหนังสือ

X