ประกันคุณภาพ

ประกันคุณภาพ

ข้อมูลจากงานนิติการ

(แหล่งข้อมูล ๑ วารสารกรมบังคับคดี ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑๐๓ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๙

              ๒ การจัดการความรู้ การฟ้องคดีปกครอง โดยกลุ่มตรวจการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

๑  การดำเนินคดีปกครอง

๑.๑  ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี กล่าวคือ ศาลปกครองมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นใดได้โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังเฉพาะคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

๑.๒  ระบบวิธีพิจารณาของศาลปกครองเป็นระบบถ่วงดุล โดยมีการถ่วงดุลในการพิจารณา ๓ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายแรก ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า ตุลาการเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ฝ่ายที่สอง ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า องค์คณะ โดยเรียกผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่นี้ว่า ตุลาการผู้แถลงคดี ทำหน้าที่แถลงการณ์ต่อคณะผู้พิพากษา และฝ่ายที่สาม องค์คณะที่มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองซึ่งมีอิสระในการพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้

๑.๓  ระบบศาลปกครอง แบ่งออกเป็นสองชั้นคือ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น

๑.๔  ประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

(๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

(๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด

(๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

๑.๕  การฟ้องคดีปกครองไม่มีแบบของคำฟ้องกำหนดไว้เฉพาะ แต่ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ ระบุชื่อที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี คำขอและลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี และต้องแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับคำฟ้องด้วย โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นซึ่งได้แก่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือศาลที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น

๒  การใช้มาตรการบังคับทางปกครอง

๒.๑  หลักเกณฑ์ทั่วไป

(๑) การบังคับทางปกครองใช้กับคำสั่งทางปกครองประเภทที่ต้องมีการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกคำสั่งทางปกครองแต่ผู้รับคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามคำสั่ง

(๒) เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถที่จะพิจารณาดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้เองโดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล

(๓) การใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ให้ใช้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครองโดยกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับทางปกครองน้อยที่สุด

๒.๒  การดำเนินการกรณีที่เป็นคำสั่งให้ชำระเงิน

(๑) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องออกคำสั่งทางปกครองเพื่อกำหนดให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองชำระเงิน และถ้าถึงกำหนดเวลาชำระเงินแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๗ วัน

(๒) กรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้น และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนได้ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งนี้ ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๖๗๓/๒๕๕๑ เห็นว่า มาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ไม่ได้จำกัดพื้นที่สำหรับการใช้มาตรการบังคับทางปกครองไว้ ดังนั้น แม้ทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะอยู่ต่างเขตพื้นที่หรืออยู่ต่างจังหวัด ก็ชอบที่จะยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวได้

(๓) ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๗๑๙/๒๕๔๖ เห็นว่า การที่มาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า  “…ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง..” มีความหมายว่า หน่วยงานของรัฐสามารถที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองก็ได้ เพราะหากหน่วยงานของรัฐสามารถทำให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองดำเนินการชดใช้เงินโดยวิธีการอื่นได้แล้ว หน่วยงานของรัฐก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรานี้

๒.๓  อายุความในการบังคับทางปกครอง

(๑) การบังคับคดีตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม จึงต้องนำระยะเวลาตามมาตรา ๒๗๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับมาตรการบังคับทางปกครองโดยอนุโลมด้วย ดังนั้น จึงต้องดำเนินการบังคับทางปกครองให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้ชดใช้เงิน

(๒) ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๒๖๗/๒๕๔๙ เห็นว่า การใช้มาตรการบังคับทางปกครองในทุกขั้นตอนตั้งแต่การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตลอดจนการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อชำระเงิน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐ ปี  นับแต่วันที่มีคำสั่ง หากไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวได้ หน่วยงานของรัฐต้องยุติเรื่องโดยไม่ต้องให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างหรือโต้แย้งก่อนแต่อย่างใด

X