3 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ความสำเร็จในปัจจุบันจากรากฐานในอดีต ขับเคลื่อนสู่การเป็นวิสาหกิจ เพื่อสังคม (Social Enterprise)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาปนาขึ้นด้วยปณิธานที่จะสร้างสรรค์สถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่ เป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งครบ 30 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2563
สัมฤทธิผลของการดำเนินภารกิจตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มทส. ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในปี 2020 จาก Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ อันดับที่ 1000+ ของโลก อันดับที่ 5 ของประเทศ และอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เป็นอันดับที่ 301-350 ของภูมิภาคเอเชีย อันดับที่ 601-800 ของโลก (อันดับ 1 ของประเทศ) ในกลุ่มสาขา Physical Science และ อันดับที่ 601-800 ของโลก (อันดับ 5 ของประเทศ) ในกลุ่มสาขาวิชา Engineering & Technology รวมถึงเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยที่อยู่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากสถาบันจัดอันดับที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ อาทิ U.S. News & World Report, Quacquarelli Symonds (QS), Round University Rankings (RUR), UI Green
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยถึงผลสัมฤทธิ์ของมหาวิทยาลัยภายใต้แนวนโยบาย “SUT Re-profile 2020” สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ปี 2561-2564 เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้สามารถปรับตัว รองรับความท้าทาย และก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสถียรภาพ มีความพร้อมในการแข่งขัน และเป็นที่พึ่งของประเทศ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยผลงานเชิงประจักษ์ 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว ดำเนินการตาม 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่
การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างนักศึกษาที่เป็นเลิศให้มีความพร้อมด้านวิชาการและความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองของโลก หลักสูตรมีความยืดหยุ่นได้ตามสมัย คณาจารย์มีศักยภาพสูง การยกระดับคุณภาพการสอนให้ได้มาตรฐานสากลตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF (UK Professional Standard Framework) ปัจจุบันมีคณาจารย์ที่ผ่านการรับรองจากสถาบัน Higher Education Academy (HEA) รวมทั้งสิ้น 64 ราย มีกระบวนการเรียนการสอนที่ดีมีมาตรฐาน สนับสนุนระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ดี มี Learning Space เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เปิดโอกาสการสร้างเสริมทักษะ Soft Skill อีกทั้ง มหาวิทยาลัยยังคงความเป็นต้นแบบและผู้นำด้านสหกิจศึกษาของประเทศ และเป็น The Best Cooperative Education University อย่างต่อเนื่อง
มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นในการสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา โดยทดลองออกแบบการพัฒนานักศึกษาภายใต้แนวคิด “Activity to Credit” หากนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการตามที่กำหนด สามารถนำเกียรติบัตรไปแสดงต่ออาจารย์ผู้สอน เพื่อขอรับผลการศึกษาในรายวิชานั้น ๆ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนากระบวนการและการบริการการบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Incubation: EnCubation) เพื่อทดลองจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในขณะที่ยังศึกษาอยู่ ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง จากผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา รวมทั้งการมีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการ Reskill & Upskill การเรียนรู้ตลอดชีวิตและทักษะเพื่ออนาคต ตอบสนองความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันของผู้เรียน โดยสร้างนวัตกรรมด้านหลักสูตรเพื่อยกระดับสมรรถนะกำลังคนวัยแรงงาน ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในรูปแบบ Modular Education หรือ Modular Curriculum สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตกว่า 50 หลักสูตร
การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) ซึ่งมหาวิทยาลัยเดินอยู่บนเส้นทางแห่งความสำเร็จมาโดยตลอด โดยสร้างรากฐานระบบนิเวศวิจัยให้เข้มแข็ง ได้แก่ สนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานที่มีผลกระทบสูง (High Impact) ทั้งผลงานตีพิมพ์และการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ สร้างกระบวนการวิจัยที่เป็นเลิศและโดดเด่น สร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัย ควบคู่กับการพัฒนานักวิจัยที่มีความสามารถสูง สนับสนุนการดำเนินการของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือ CoE (Center of Excellence) ในระดับชาติและนานาชาติ จัดเตรียมนักวิจัยรุ่นใหม่ตามโครงการ Research Brotherhood ส่งเสริมสนับสนุน Research Unit ที่มีศักยภาพสูงและมีผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่มีผลกระทบสูง เพื่อพัฒนาไปเป็น New SUT-CoE ปัจจุบันมี CoE จำนวนทั้งสิ้น 10 CoE ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยในหลายด้าน ทั้ง Social Impact, World Ranking, SUT Branding, บัณฑิตพันธุ์ใหม่, Spinoff และ Startup Company
การสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Social & Commercial–STI Impact) มทส. มีการจัดตั้ง “เทคโนธานี” มาตั้งแต่แรกเริ่ม เทียบได้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็น Gateway ในการนำองค์ความรู้ไปสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น การตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 University Engagement การเชื่อมโยงการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม งานพัฒนาและโครงการที่ตอบเป้าหมายตัวชี้วัดของการเป็น Social Enterprise และ STI for Social Contribution รวมถึงอัตลักษณ์ด้านวิชาการที่หลากหลายของแต่ละสำนักวิชา ส่งผลให้มีการผลิตงานวิจัยมุ่งเป้าและการผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ของประเทศ การใช้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การเพิ่มศักยภาพความสามารถด้านอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังพลิกโฉมแนวทางการดำเนินงานและสร้างระบบการจัดการแบบใหม่ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับ ตลอดจน การก่อตั้ง “Science & Innovation Park” ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สนับสนุนผู้ประกอบการไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
การสร้างความผูกพันกับวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North-Eastern Culture Engagement) ด้วยการนำความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้บริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น บนฐานทรัพยากรของท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การสร้างความตระหนักและการทะนุบำรุงวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใช้ประโยชน์อุทยานการเรียนรู้สิรินธรเพื่อท้องถิ่น และศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
การบริหารงานที่นำสมัย เป็นธรรม และการสร้างระบบนิเวศแห่งคุณภาพ (Smart Management, Good Governance and Quality Ecosystem) ถือเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ ทั้งการบริหารงานบุคคล การพัฒนาระบบ Project-Based Management (PBM) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่ Smart Campus และ Digital-Wide Campus โดยนำระบบสารสนเทศดิจิทัลและระบบเพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมาใช้ในการจัดการและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดนี้ มทส. เปิดตัว รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ และ รถเมล์อัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตในมหาวิทยาลัย ด้านการสร้างความสัมพันธ์กับศิษย์เก่า ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ Alumni Database, Master Plan, Engagement and Funding มีการดำเนินการด้านการบริหารการเงินสมัยใหม่ ในขณะที่การบริหารจัดการเพื่อการปลูกฝังวัฒนธรรมคุณภาพนั้น มุ่งเน้นการควบคุมกระบวนการ เสถียรภาพ และความโปร่งใสของการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทายและการแข่งขัน การเผชิญกับ Disruptive Technology ที่การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนทั้งหมด มหาวิทยาลัยจึงผลักดันให้มีการเรียนการสอนแบบ Modular Curriculum มีสื่อการสอน E-Courseware ในทุกรายวิชา ปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning ให้เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อนักศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเป็น Borderless University เต็มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมทุกภาคส่วน เกิดการปรับเปลี่ยนสู่วิถีใหม่ หรือ New Normal ในบทบาทของมหาวิทยาลัยที่เป็นที่พึ่งของสังคม ได้จัดตั้ง “กองทุน มทส. สู้ภัยโควิด-19” ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์นี้ มทส. ประกาศนโยบายปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นแห่งแรก ๆ ของประเทศ ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home การออกมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักวิจัยได้แสดงศักยภาพในการคิดค้น พัฒนา สร้างสรรค์ผลงาน โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาทุกข์และสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ปรากฏเป็นรูปธรรม ส่งต่อไปถึงโรงพยาบาล มทส. โรงพยาบาลในภาคอีสาน โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิระ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กร และชุมชนในจังหวัดนครราชสีมา เช่น ห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบเคลื่อนที่ ตู้ตรวจคัดกรองเชื้อความดันบวก-ความดันลบ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ ตู้เก็บเสมหะผู้ป่วยเป็นตู้เก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ เครื่องกำจัดและกรองอากาศด้วยระบบพลาสมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เครื่องกำเนิดโอโซนกำลังสูงเพื่ออบกำจัดเชื้อไวรัสในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ หน้ากาก Face Shield และแอลกอฮอล์เจล เป็นต้น
ความสำเร็จและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตลอดระยะเวลา 30 ปี มีรากฐานความแข็งแกร่งและมั่นคงจากอดีต ปัจจุบันเราจะยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมาตรฐานสากล และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความแตกต่างมากกว่าการเป็น Technological University แต่ต้องเป็น Social Enterprise University เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความยั่งยืน เป็นที่พึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ ผมมีความเชื่อมั่นในทิศทางการบริหารบนแนวคิด “SUT Re-profile 2020” มุ่งสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับ 1 ของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง