โครงสร้างองค์กร

โครงสร้างองค์กร

การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในช่วงทศวรรษแรก ได้แบ่งพัฒนาการสำคัญเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2531 – 2532 เป็นช่วงแรกที่เป็นการดำเนินการด้านจัดหาที่ดินที่ตั้งของมหาวิทยาลัย การเตรียมโครงสร้าง การเตรียมจัดทำผังแม่บท

ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 – 2536 เป็นการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้น จัดได้ว่าเป็นระยะบุกเบิกของมหาวิทยาลัย กล่าวคือเป็นระยะที่ก่อร่างสร้างตัวของมหาวิทยาลัย ให้พร้อมที่จะเปิดดำเนินการ โดยงานที่ได้ดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค การจัดระบบ วางระเบียบ การสรรหา และคัดเลือกบุคลากรเพื่อมาปฏิบัติงาน การดำเนินการส่วนใหญ่จะอยู่ที่สำนักงานชั่วคราว กรุงเทพมหานคร

ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป เป็นระยะของการเปิดดำเนินการ บุคลากรทั้งหมดเข้ามาปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้ง จังหวัดนครราชสีมา มีการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปีการศึกษา 2536 และในช่วงนี้ได้ดำเนินการตามภารกิจของ มหาวิทยาลัย โดยเน้นด้านการสอนและการวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการขยายภารกิจทางด้านบริการวิชาการ ปรับแปลงถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมในระยะต่อไป จากหลักการ จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่กำหนดให้ฐานะและรูปแบบของมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐบริหารงานแบบธุรกิจที่ไม่มุ่งหาผลกำไร และยังสามารถสนองนโยบายของรัฐได้เต็มที่ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย การวางโครงสร้างการ บริหารงาน ของมหาวิทยาลัยจึงคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริการ เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การกระจายอำนาจการบริหารไปสู่องค์กรระดับต่างๆ เพื่อลดขั้นตอนการตัดสินใจ โดยให้องค์กร แต่ละระดับเน้นการบริหารงานในรูปคณะบุคคล เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังเน้นหลักการของการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

องค์กร

ในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้จัดโครงสร้างองค์กรและระบบบริหาร ที่ยึดหลักการกระจายอำนาจ ที่มีลักษณะของการปกครองตนเอง โดยให้การตัดสินใจ วินิจฉัย สั่งการ สิ้นสุดในระดับสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น องค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูง โครงสร้างการจัดองค์กรการบริหารในแนวราบ มีการจัดแบ่งส่วนงานที่ชัดเจน ไม่สลับซ้ำซ้อน และวางโครงสร้างการจัดองค์กรวิชาการแบบกลุ่มสหวิทยาการ ที่เอื้อให้มหาวิทยาลัยประยุกต์ใช้นวัตกรรมเชิงบริหารและนวัตกรรมทางการ ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ในการดำเนินงานภายใต้การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มีการตัดสินใจ วินิจฉัย และการสั่งการสิ้นสุดในระดับสภามหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีขีดความสามารถในการบริหาร และการจัดการในเรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างคล่องตัว การดำเนินการยุบรวม และจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับสำนักวิชา ศูนย์ สถาบัน ฯลฯ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยที่เป็นองค์กรการบริหารสูงสุด

โครงสร้างการจัดองค์กร

กลไกการกำหนดนโยบาย การวางแผนการควบคุม การติดตามและประเมินผล รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยองค์กรสำคัญจำนวน 2 องค์กร ได้แก่

สภามหาวิทยาลัย

เป็นองค์กรสูงสุดทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป โดยเฉพาะด้านนโยบายและแผน งบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การแบ่งส่วนงาน การออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและการอนุมัติปริญญา สภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(1) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

(3) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 12 คน ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอก และในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 4 คน

(4) กรรมการจำนวน 2 คน ซึ่งสภาวิชาการเลือกจากกรรมการจากสภาวิชาการ

(5) กรรมการจำนวน 5 คนซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรืออาจได้รับเลือกหรือได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้

คณะกรรมการประจำสภามหาวิทยาลัย

คณะกรรมการประจำสภามหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยฯ จำนวน 4 ชุด ประกอบด้วย

(1) คณะกรรมการบริหารงานบุคคล

(2) คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สิน

(3) คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน

(4) คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย

สภาวิชาการ

เป็นองค์กรรองลงมาจากสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทางวิชาการ อันได้แก่ การสอน การวิจัย และบริการทางวิชาการ โดยเฉพาะการกำกับดูแลด้านมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย สภาวิชาการ ประกอบด้วย

(1) ประธานสภาวิชาการ ได้แก่ อธิการบดี

(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน และศาสตราจารย์

(3) กรรมการสภาวิชาการที่คณาจารย์ประจำเลือกจากคณาจารย์ประจำสำนักวิชา สำนักวิชาละ 3 คน กรรมการสภาวิชาการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่อาจได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งใหม่อีกได้

โดยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีงานหลักที่สำคัญ 6 ด้าน คือ งานบริหารและธุรการ งานสอน งานวิจัยและพัฒนา งานบริการวิชาการ งานปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี และงานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การจัดองค์กรของมหาวิทยาลัย จึงอิงตามลักษณะงานทั้ง 6 ประการ ดังนี้

สำนักงานอธิการบดี

มีภารกิจหลักประสานนโยบายของมหาวิทยาลัยในทุกๆ ด้าน รวมทั้งภารกิจในด้านการบริหารและธุรการ โดยประสานงานบริหารในสำนักวิชา ศูนย์ สถาบัน และหน่วยงานวิสาหกิจ สำนักงานอธิการบดี ประกอบด้วย หน่วยงานระดับส่วนงาน 14 ส่วนงาน ได้แก่

(1) ส่วนสารบรรณและนิติการ

(2) ส่วนการเจ้าหน้าที่

(3) ส่วนการเงินและบัญชี

(4) ส่วนอาคารสถานที่

(5) ส่วนพัสดุ

(6) ส่วนแผนงาน

(7) ส่วนกิจการนักศึกษา

(8) ส่วนประชาสัมพันธ์

(9) หน่วยตรวจสอบภายใน

(10) ส่วนส่งเสริมวิชาการ

(11) สำนักงานสภามหาวิทยาลัยฯ (กรกฎาคม 2551)

(12) สถานพัฒนาคณาจารย์ (เมษายน 2551)

(13) สถานส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร (สิงหาคม 2551)

(14) ส่วนบริหารสินทรัพย์ (เมษายน 2555)

โดยการดำเนินงานตั้งแต่เปิดดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานเพื่อความเหมาะสม ดังนี้ 17 กันยายน 2537 ได้ประกาศยุบส่วนวิเทศสัมพันธ์ และจัดตั้ง ศูนย์กิจการนานาชาติ โดยโอนภารกิจที่อยู่ภายใต้ การดูแลของส่วนวิเทศสัมพันธ์ ไปไว้ที่ศูนย์กิจการนานาชาติ 26 มิถุนายน 2541 ได้ประกาศยุบส่วนอำนวยการ จัดตั้ง ส่วนส่งเสริมวิชาการ ได้โอนงานนิติการที่อยู่กับส่วนอำนวยการ ไปรวมกับส่วนสารบรรณ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นส่วนสารบรรณและนิติการ 8 เมษายน 2555 ได้ประกาศจัดตั้ง ส่วนบริหารสินทรัพย์ โดยแบ่งส่วนงานออกจากส่วนการเงินและบัญชี

สำนักวิชา
มีภารกิจด้านการสอนและการวิจัย แต่ละสำนักวิชาจะประกอบด้วย สาขาวิชา และมีสถานวิจัย เป็นแหล่งปฏิบัติงานวิจัยของคณาจารย์ในสำนักวิชานั้น ๆ สำนักวิชา ประกอบด้วย 6 สำนักวิชา ได้แก่
(1) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
(2) สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม
(3) สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
(4) สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์
(5) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ (2536)
(6) สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ (2552)
การดำเนินงานตั้งแต่เปิดดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานในระดับสำนักวิชา ดังนี้
15 ธันวาคม 2536    จัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์
1 พฤษภาคม 2542   มหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างสำนักวิชาใหม่ โดยรวมสำนักวิชาเทคโนโลยีทรัพยากร และสำนักวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เข้าด้วยกัน และจัดตั้งเป็นสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ โดยโอนสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร ของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรไปขึ้นกับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์
30 พฤษภาคม 2552 จัดตั้งสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
สถาบัน / ศูนย์
มีภารกิจหลักด้านการบริการสนับสนุนงานด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนและของประเทศ โดยอาจดำเนินการในรูปโครงการต่าง ๆ ได้ โดยแรกเริ่มดำเนินการมีหน่วยงานระดับสถาบัน/ศูนย์ จำนวน 1 สถาบัน 5 ศูนย์ ได้แก่
(1) สถาบันวิจัยและพัฒนา
(2) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
(3) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(4) ศูนย์บริการการศึกษา
(5) ศูนย์บริการวิชาการ
(6) ศูนย์คอมพิวเตอร์
โดยการดำเนินงานตั้งแต่เปิดดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานในระดับศูนย์เพื่อความเหมาะสม ดังนี้
17 กันยายน 2537    จัดตั้ง ศูนย์กิจการนานาชาติ โดยรวมภารกิจทั้งหมดของส่วนวิเทศสัมพันธ์ มารวมไว้ในภารกิจของศูนย์กิจการนานาชาติ
23 เมษายน 2539     ประกาศยุบรวมศูนย์บริการวิชาการและจัดตั้ง เทคโนธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานเทียบเท่าศูนย์ขึ้น โดยโอนภาระงานทั้งหมด ของศูนย์บริการวิชาการเข้าไปไว้ในฝ่ายบริการวิชาการของ เทคโนธานี
11 มิถุนายน 2551    ประกาศยุบรวมโครงการศึกษาไร้พรมแดนและโครงพัฒนาและผลิตสื่อการศึกษา และจัดตั้งเป็น ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการผลิตและพัฒนาสื่อสนับสนุนการเรียนการสอน พัฒนาระบบการเรียนการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์และภารกิจด้านสำนักพิมพ์
29 ตุลาคม 2551      ประกาศยุบโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ และจัดตั้งเป็น
ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ
ปัจจุบันหน่วยงานระดับสถาบัน/ศูนย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 1 สถาบัน 7 ศูนย์ และ 1 หน่วยงานเทียบเท่าศูนย์/สถาบัน ประกอบด้วย
(1) สถาบันวิจัยและพัฒนา
(2) ศูนย์บริการการศึกษา
(3) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
(4) ศูนย์คอมพิวเตอร์
(5) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(6) ศูนย์กิจการนานาชาติ (2537)
(7) เทคโนธานี (2539)
(8) ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา (2551)
(9) ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ (2551)
หน่วยงานวิสาหกิจ
ภายใต้แนวทางและเป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยที่มุ่งจะระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาเสริมงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องวางแนวทางและระบบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวและเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถ พึ่งตนเองทางการเงินได้ในระยะยาว ได้ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยให้เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานเชิงธุรกิจ 4 หน่วยงาน ได้แก่ เทคโนธานี ฟาร์มมหาวิทยาลัย สุรสัมมนาคาร ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข

เทคโนธานี

เป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกในด้านการจัดประชุม สัมมนา ฝึกอบรม และให้คำปรึกษาทางวิชาการ ส่งเสริม ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ให้เช่าพื้นที่ภายในบริเวณเทคโนธานีเพื่อการบริการ และการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดธุรกิจ เป็นต้น

ฟาร์มมหาวิทยาลัย

เป็นสถานที่ให้บริการการเรียนการสอนภาคปฏิบัติการ การวิจัย และบริการวิชาการทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร และดำเนินกิจการ ด้านการเกษตรในเชิงธุรกิจ มีการจำหน่ายสินค้า ผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ที่เป็นผลผลิตจากการเรียนการสอน และการวิจัยด้านการเกษตร

สุรสัมมนาคาร

เป็นสถานที่ให้บริการที่พัก/อาหาร การจัดประชุมสัมมนาและจัดเลี้ยงแก่หน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นสถานที่ให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่พนักงาน นักศึกษา รวมถึงบุคคลภายนอก

X