การเลี้ยงโคพันธุ์โคราชวากิว

จุดแรกเริ่มของงานวิจัย

      จากการสำรวจข้อมูลเมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว ใน พ.ศ. 2548 ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเนื้อวัวที่มีเกรดพรีเมี่ยม ที่เนื้อมีไขมันแทรกสูงมีความนุ่มอร่อยตลาดชั้นสูงต้องการ ต้องนำเข้าจากออสเตรเลียและญี่ปุ่นปีละนับพันล้านบาท เพราะขาดการนำสายพันธุ์วัววากิวมาปรับปรุงพันธุ์กับวัวเนื้อในประเทศ เพราะเกษตรกรและหน่วยราชการ ณ ตอนนั้นไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงได้ในบ้านเมืองไทยที่มีอากาศร้อน เลี้ยงแล้วอาจจะไม่รอดเพราะไม่ทนโรคเมืองร้อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำการปรับปรุงพันธุ์วัววากิวในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

พัฒนาการของ โควากิวในประเทศไทย

      ในปี 2548 ได้เริ่มต้นโดยซื้อน้ำเชื้อวัววากิวแช่แข็งจากต่างประเทศมาผสมเทียมให้วัวเนื้อของเกษตรกร แต่เกษตรกรไม่ค่อยสนใจเพราะไม่เชื่อว่าจะผลิตวัวเนื้อที่มีไขมันแทรกสูงขายได้ในราคาสูงขึ้น ทำให้เสียงบประมาณในการซื้อน้ำเชื้อหลอดละ 500 บาทไปมาก แต่ได้ลูกวัวเกิดมาแค่ไม่ถึง 10 ตัว หลังจากนั้นจึงปรับแผนใหม่ โดยจัดสัมมนา และประกาศเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจนำน้ำเชื้อวัววากิวไปปรับปรุงพันธุ์ โดยให้เกษตรกรรวมตัวกันลงหุ้นซื้อพ่อวัวากิวพันธุกรรมดีเยี่ยมจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาเลี้ยงในศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แล้วจะทำการรีดน้ำเชื้อผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งให้ผู้ถือหุ้น โดยหุ้นละ 1,000 บาทจะได้น้ำเชื้อ 10 หลอด และยังมีสิทธิ์ในพ่อวัวตัวนั้นอยู่ คราวนี้เกษตรกรสนใจกันมากลงหุ้นรวมกันได้ 800,000 บาท ทำให้พวกเราสามารถซื้อพ่อวัววากิวอายุ 19 เดือนจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาในราคา 700,000 บาท ถึงเมืองไทยในเดือนกันยายน 2551 ได้รับการตั้งชื่อวัว “โกโบริ” แล้วรีดน้ำเชื้อแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นนำไปปรับปรุงพันธุ์

      ตั้งแต่ปลายปี 2551 ถึงปี 2552 มทส.ได้จัดอบรมให้เกษตรกรที่สนใจปรับปรุงพันธุ์วัววากิวในจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ประมาณ 500 ราย ให้เข้าใจถึงกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การคัดเลือกแม่วัวพื้นฐานมาผสมเทียม ได้แก่พันธุ์ลูกผสมบราห์มัน ลูกผสมชาโลเลย์ ลูกผสมแองกัส และวัวนม และวิธีการขุนวัววากิวที่เกิดมาให้มีไขมันแทรกสูง ซึ่งมีเกษตรกรนำไปปฏิบัติจริงประมาณ 10 รายเท่านั้นเนื่องจากยังไม่มั่นใจว่าผลิตแล้วจะขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าวัวขุนทั่วไปหรือไม่  พอถึงปลายปี 2554 มีวัวลูกผสมวากิวที่เกิดจากแม่วัวพันธุ์ลูกผสมบราห์มัน ขุนเสร็จ 1 ตัว นำไปชำแหละพิสูจน์ซากได้ไขมันแทรกเกรด 4.5 มีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นมาซื้อในราคา 145,000 บาท เกษตรกรผู้ขุนได้กำไร 6 หมื่นกว่าบาท ส่งผลให้หลังจากนั้นพวกเราไม่ต้องประชาสัมพันธ์กันมาก เกษตรกรในหลายจังหวัดต่างพากันนำน้ำเชื้อวัววากิวไปปรับปรุงพันธุ์วัวเนื้อกันมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า “วัวพันธุ์โคราชวากิว” เนื่องจากบุกเบิกการปรับปรุงพันธุ์และการขุนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา

      นอกจากนี้เกษตรกรได้รวมตัวกันซื้อตัวอ่อนแช่แข็งวัววากิว เข้ามาให้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด ย้ายฝากให้วัวตัวรับ มีลูกวัววากิวพันธุ์แท้เพศผู้เกิดมา 7 ตัว ซึ่งได้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งไว้ผสมเทียมให้กับลูกของโกโบริ และผสมไขว้สายเลือดให้กับวัววากิวรุ่นอื่นๆที่เกิดมาเพื่อไม่ให้เกิดเลือดชิด

จุดมุ่งหมายที่คาดว่าจะได้รับ

       อยากผลิตวัววากิวของไทยให้นำไปขุนแล้วมีไขมันแทรกสูง เนื้อมีความนุ่มอร่อย เพื่อทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงวัววากิวเป็นอาชีพหลักได้

ดำเนินการไปถึงจุดไหนแล้ว เห็นผลสัมฤทธิ์ ในระดับไหนแล้ว (ปี พ.ศ. 2564)

      นับถึงปัจจุบัน มทส.ได้จัดอบรมการปรับปรุงพันธุ์และการขุนวัววากิวให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 5,000 ราย มีเกษตรกรทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลี้ยงวัววากิว ทำให้เป็น “วัวอีสานวากิว”  และในภาคอื่น ๆ มีการเลี้ยงมากขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็น “วัวไทยวากิว” รวมแล้วมีผู้ผลิตวัววากิวต้นน้ำอย่างน้อย 15,000 ตัวใน 500 ฟาร์ม ผู้ผลิตกลางน้ำ และปลายน้ำอย่างน้อย 5,000 ตัว ใน 200 ฟาร์ม สามารถผลิตวัววากิวสายเลือดวากิว 50, 75 และ 87.5% ขุนแล้วได้ไขมันแทรกระหว่าง 3-8 มีคุณภาพไม่แตกต่างจากเนื้อวัววากิวจากออสเตรเลีย ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภคเนื้อในประเทศ

คลิกเพื่อดาวน์โหลดไฟล์คู่มือ https://drive.google.com/file/d/1jGGeizma6I83aqsCgA2v_C24_uolVXy_/view?usp=sharing

X